https://www.facebook.com/pmatHRsociety https://twitter.com/pmathrsociety https://www.youtube.com/user/PMATVideos http://line.me/ti/p/@pmat
“Embracing the World of Polycrisis: Understanding, Preparation, and Resilience Strategies” ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต และผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
กลับš


ดร.สันติธาร เริ่มด้วยการนำเสนอคำใหม่ POLYPARADOX เพื่ออธิบายโลกซับซ้อน ซึ่งไม่ได้มีเพียง “วิกฤติปัญหา” อย่างเดียว แต่มี “โอกาส” รวมอยู่ เกิดเป็นความย้อนแย้งทำให้ชีวิตยากขึ้น

“POLYPARADOX หมายถึง โลกทับซ้อนย้อนแย้ง มีความย้อนแย้งที่มันทับซ้อนกันหลายด้าน เหมือนขับรถวันเวย์ มีป้ายให้เลี้ยวซ้าย ป้ายอีกอันบอกให้เลี้ยวขวา กลายเป็นวันเวย์สองทาง”

มาร่วมกันทำความเข้าใจ polyparadox โลกทับซ้อนย้อนแย้ง 4 มิติ ผ่านมุมมองของ ดร.สันติธาร

1. Paradox of Digitalisation

หลังการเกิดโควิด เราต่างมองกันว่าน่าจะเป็นยุคของดิจิทัล มาถึงวันนี้ กลับมีคำถามว่า “อนาคตต้องเป็นดิจิทัลแน่นอนหรือไม่ ?” ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น wework ไม่ใช่ทุกสตาร์ทอัพเป็นแบบ wework แต่ wework ก็สะท้อนหลายปัญหาในวงการสตาร์ทอัพ และเทคโนโลยีในช่วงที่บูม แต่ไม่ใช่การเทคโนโลยีในทุกกระบวนการแล้วจะเวิร์ก ในอนาคตไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็นดิจิทัลแล้วจะเวิร์กเสมอไป
การทำสตาร์ทอัพมีปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา กลายเป็นคนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพก็มีปัญหาด้วย โดยเฉพาะกลุ่มทุนเจ้าใหญ่เจ้าดังระดับโลก ปัญหาเหล่านั้นสะท้อนไปถึงธนาคารที่ให้การสนับสนุนเป็นแหล่งทุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ก็มีปัญหา กลายเป็นว่าธุรกิจในซิลิคอนวัลเลย์และธนาคารเกิดปัญหาขึ้นตามมาด้วย และไม่เพียงแค่สตาร์ทอัพหรือบริษัทเล็กที่มีปัญหา แต่บริษัทใหญ่ๆ ก็มีการลดคน มีการ Lay off คนทำงานจำนวนมหาศาล

เหตุการณ์ welcome back to the office จากที่เคยพูดกันว่า อนาคตไม่ต้องมีออฟฟิศ เพราะมีการทำงานระยะไกล แต่ตอนนี้ทุกคนต้องกลับมาทำงานเต็มเวลาได้แล้ว เพราะวัฒนธรรมองค์กรกำลังพัง การทำ remote working ทำให้การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นการที่บอกอนาคตคือดิจิทัล จึงเหมือนการถอยหลังกระชากกลับ นี่คือมิติความย้อนแย้ง สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ตั้งคำถามว่า เอ๊ะ! อนาคตจะเป็นแบบนี้แน่หรือ? อะไรที่เป็นกระแส อะไรเป็นเทรนด์

ปัจจุบันหลายคนบอกว่า เป็นหน้าหนาวของเทคโนโลยี แต่ในหน้าหนาวนี่เอง มีการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงหลายอย่างกำลังเกิดขึ้น และมีประเด็นทางเทคโนโลยี 3 เรื่องที่น่าสนใจ


1. Digital Inclusion: From Zero to One

เมื่อเราพิจารณาคงามก้าวหน้าด้านเทีคโนโลยี เราไปสนใจว่า ประเทศนั้นมีบรัทที่ยกระดับไปถึงการเป็นยูนิคอร์นกี่ตัว มูลค่าบริษัทเท่าไหร่ หุ้นขึ้นไปเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วที่สำคัญคือ ตัวเลขคนที่ใช้ดิจิทัลเป็น มีเพิ่มขึ้นกี่คน คนที่กลายเป็น digital consumer ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา ในอาเซียนมีการใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้น 100 ล้านคน ใน 3 ปี มากกว่าประชากรประเทศไทยที่ใช้อยู่ 42 ล้านคนในปัจจุบัน เดิมการใช้ Digital Technology gdbf-7hoเฉพาะคนในเมือง คนรุ่นใหม่ แต่ปัจจุบันขยายไปในกลุ่มคนวัยสูงอายุ ธุรกิจSMEs เกษตรกร คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หลายคนยังไม่เคยใช้ดิจิทัล ปัจจุบันมาใช้ดิจิทัลชำระสินค้าและบริการได้แล้ว ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญของการต่อยอดบริการต่างๆ

2. Towards a Hybrid World: Not quite metaverse yet but..

การคุ้นชินกับโลกเสมือนจริงมากขึ้น ปี 2022 หลายคนคิดว่าต้องเข้าสู่โลก metaverse แล้วทิ้งโลกความเป็นจริง แต่ปัจจุบันเรายังไปไม่ถึงขนาดนั้น AI, VR มันยังไม่ว๊าวขนาดให้เราไปอยู่ตรงนั้นได้ แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง สิ่งที่เราเคยคิดว่ามันแปลก ถ้าถามตัวเอง 5-10 ปีก่อน มันไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็เป็นไปแล้ว เช่น การซื้อสินค้าจากไลฟ์สด โดยไม่ได้จับต้องสินค้า และไม่ต้องรู้จักคนขาย กลายเป็นเรื่องปกติ
การเจอกันในโลกออนไลน์ สร้างอวตาร ซื้อเสื้อผ้า ใช้เงินกับโลกเสมือนจริง แต่งตัวเพื่อให้ตัวเองดูดี แล้วไปเจอกันในนั้น ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป หรือการทำงานจากที่ไหนก็ได้ อาจไม่ได้ remote work 100% แต่การทำงานมีลักษณะยืดหยุ่นมากขึ้น สิ่งที่เคยแปลก มันไม่แปลก เราชินที่โลกดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกปัจจุบัน

3. Data & AI Economy: Gen AI Is “Disrupting the Disruption”

จำนวนคนใช้ดิจิทัลมากขึ้น การเกิด digital footprint มหาศาล ข้อมูลเหล่านี้คืออาหารของปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ AI พัฒนาอย่างก้าวกระโดด สิ่งที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงมากที่สุดคือนวัตกรรมช่วงที่ผ่านมาคือ generative AI อย่าง ChatGPT ตัว gen AI จะ disrupt the disruption ตัว AI รุ่นเก่า

gen AI มีความสามารถ ทำให้ภาพนิ่งกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวประกอบเสียงพูด สามารถใช้งานได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้โค้ดอะไร แปลว่า gen AI เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปอีกขั้น แต่จริงๆ แล้วทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ทำให้เทคโนโลยีกลับคืนสู่สามัญมากขึ้น ทำให้คนใช้เทคโนโลยี โดยที่ไม่ต้องเขียนโปรแกรมเป็น
แม้แต่ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ก็กำลังเปลี่ยนไป เพราะความคิดสร้างสรรค์หลายอย่างสามารถทำอัตโนมัติได้ ทำได้ง่ายๆ ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที ถึงตรงนี้ทำให้ภาพเมื่อเราจินตนาการถึงการ disruption เปลี่ยนไปพอสมควร

2. Paradox of Jobs
รายงานของ Mckinsey สะท้อนให้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับวงการ HR โดยแสดงข้อมูลเกี่ยวกับ “งานที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ง่ายๆ มีอะไรบ้าง” แยกตามระดับการศึกษา ก่อน gen AI มา เรียนยิ่งสูง ยิ่งปลอดภัย โอกาสถูก AI แทนที่ มีต่ำ แต่พอหลังยุค gen AI ไม่ว่าอาชีพอะไร วงการไหน สามารถถูก gen AI แทนที่ได้ ดังนั้นรูปแบบของการ disruption ในเรื่องของตลาดแรงงาน จะเปลี่ยนไปสิ้นเชิง คนเริ่มกังวลเรื่องงาน ว่าจะไปรอดไหม?

ต่อมา ความย้อนแย้งเรื่องของงาน เพราะขณะที่คนกังวลว่าจะมีงานทำไหม? ปัญหาอีกด้านคือ งานไม่มีคน เจอสองอย่างพร้อมกัน ที่ไม่น่าเป็นไปได้ ดูขัดแย้งกันมาก คนหางานไม่ได้ แต่งานก็หาคนไม่ได้เช่นกัน เพราะเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั่วโลกคนขาดแรงงานอย่างหนัก คนที่ทำงานหนักไป เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา เกิดภาวะ quite quitting ออกด้วยใจ แต่ตัวยังอยู่ หรือ resignation ลาออกจริงๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะว่า คนไม่แฮปปี้กับงาน ไม่อยากทำงาน ขณะเดียวกัน งานก็ขาดคนเช่นกัน สองอย่างนี้กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

แง่หนึ่งเรามอง AI น่ากลัว แต่อีกแง่ AI ตอบโจทย์มาก เพราะถ้าขาดคน ก็สามารถเอา AI มาช่วยทำช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างมหาศาล เอางานมาช่วย ร่นเวลาให้คน ทั้งอาชีพอาจารย์ แพทย์ หรือต่อไป AI อาจกลายเป็น IA : Intelligence Assistant ผู้ช่วยคนเก่ง ที่ช่วยเราได้ โดยไม่ต้องใช้ code แค่พูดบอก AI ว่าอยากให้ทำอะไร

AI ช่วยเรื่อง pain point บางงานตัวหนังสือเล็ก พิมพ์ไม่ไหว แค่พูดภาษาอะไรก็ได้ออกมา AI ฟังออกหมด ทำให้ง่ายขึ้นเยอะ และ productivity เพิ่มมหาศาล ถ้าใช้ AI เป็น ใช้ถูก และงานที่ไม่อยากทำ เราก็ไม่ต้องทำ เป็นอีกด้านของ AI มองว่าน่ากลัว แต่อีกด้านเป็นโอกาสมหาศาล

3. Paradox of Sustainability

ความย้อนแย้งไม่ได้มีเพียงเรื่องเทคโนโลยี ในเรื่อง sustainability ก็มี ความยั่งยืนที่คนมองว่าเป็นอนาคต แต่ก็มีการกระชากกลับเหมือนกัน ในเรื่องของ energy security ในโลกที่มีสงคราม มีภาวะขาดแคลนพลังงาน ขาดแคลนน้ำมัน ขณะที่เราพูดถึงเศรษฐกิจสีเขียว แต่มีบางประเทศกลับมาใช้ถ่านหินมากกว่าเดิม เพราะขาดแคลนพลังงาน มีหลายประเทศกลับไปชดเชยพลังงาน ราคาน้ำมัน เพราะเรื่องความมั่นคง เรื่องปัญหาปากท้องของคน ไม่ได้บอกเป็นสิ่งที่ถูก แต่เป็นกระแสที่ถูกกระชากกลับไป

ถามว่าในอนาคตจะเป็น security หรือ sustainability ส่วนตัว ดรสันติธาร เชื่อว่าความยั่งยืนยังเป็นอนาคต แม้จะถูกดึงไปบ้าง เพราะความกดดัน 3 ทาง ในเรื่องของ climate transition ได้แก่
1. ESG (environment, social, governance) ประเทศไทยกำลังมีกองทุน ESG ตามกระแสโลก
2. woke เป็นสิ่งที่เรียกผู้บริโภค ไม่ใช่แค่นักลงทุนกดดัน ผู้บริหารในห้องบอร์ดรูมเท่านั้น แต่ผู้บริโภคก็อยากได้สินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ยอมจ่ายแพงหากแบรนด์มีความพรีเมียมทางด้านความยั่งยืน
3. CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ภาครัฐ อย่างยุโรป ประกาศเป็นเจ้าแรก ถ้าผลิตสินค้าบางอย่างที่ปล่อยคาร์บอนมากกว่ามาตรฐานยุโรป ถ้าส่งไปยุโรป จะต้องเก็บภาษีทันที ตอนนี้มีเพียง 6 กลุ่มสินค้า ยังกระทบไทยไม่มาก แต่ปัญหาคือ CBAM เป็นแค่จุดเริ่มต้น อาจขยายไปประเทศอื่นๆ ทำให้ climate transition จะเป็นอีกประเด็นที่ก่อปัญหาในอนาคต

ขณะเดียวกันประเด็นของ climate adaption ที่ไม่ใช่ภาคบังคับ แต่เราต้องบังคับตัวเอง เพราะถ้าไม่บังคับตัวเอง เราพังแน่ๆ

climate adaption คือ โลกที่เปลี่ยนไปแล้ว สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปแล้ว จะเปลี่ยนจุดแข็งของประเทศไทย จากเกษตร ท่องเที่ยว กลายเป็นจุดอ่อนทันที สองอุตสาหกรรมนี้แรงงานไทยรวมกัน 50% ประเทศไทยสามารถติดอันดับท็อป 10 โลก ในเรื่องความเสี่ยงน้ำท่วม และภัยแล้งได้พร้อมกัน

เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข และเกี่ยวข้องกับสายงาน HR อย่างมาก เพราะ greener economy ต้องการทักษะสีเขียว ซึ่งสำคัญมากกับทุกองค์กร ต้องมีคนที่เข้าใจและวัดความยั่งยืนได้ ต้องเข้าใจ green transportation รู้เรื่อง green finance ยืมแนวคิดมาจาก TDRI ที่ทำไว้ละเอียดดีมาก เป็นทักษะสำคัญที่ทุกองค์กรต้องมี

4. Paradox of Global Order

global border อำนาจหรือบารมีเศรษฐกิจใหญ่ๆ ทั่วโลก จากแนวคิดของ Ray Dalio คนที่เขียนหนังสือ principles ย้อนไปยุคที่อังกฤษเป็นใหญ่ อเมริกาเป็นใหญ่ แต่ตอนนี้อำนาจบารมีอเมริกา ทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ เริ่มลดลงเรื่อยๆ และจีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่จีนก็เผชิญความท้าทายในประเทศหลายอัน

เราเลยอยู่ในสภาพสุญญากาศ อเมริกาเป็นเจ้าก็ไม่ใช่ จีนก็ไม่เชิง เป็นสถานการณ์โลกใหม่ ที่ของดูว่าไม่เกี่ยว มันกลับมาเกี่ยวได้ สภาพสุญญากาศ จะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่ายมาก เกิด hot war สงครามจริงๆ มีความสูญเสียชีวิตมนุษย์ เกิด cold war ที่มาในรูปของ trade, disruption และก็มี technology war

รวมถึงสงครามที่อื่น ที่บางทีกลับทำให้เรามาทะเลาะกันเองในบ้าน เพราะหลายประเทศเชียร์ geopolitical conflicts ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เหมือนเชียร์มวย เชียร์บอล ตีกันเองในบ้าน ในเรื่องที่จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกับเราเลยก็มี เพราะ social media ทำให้เรื่องเหล่านี้มันรุนแรงขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องที่เหมือนไม่เกี่ยว มันกลับมาเกี่ยวกับเรา

poly ไม่ได้แปลว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ทบต้น ซ้ำซ้อนกัน และ feed ใส่กันและกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ geopolitical conflicts ความขัดแย้งของมหาอำนาจ ก็ยากมากแล้ว, AI disruption ก็ยากในตัวของมัน แต่ถ้ามัน feed ถึงกันและกัน

คนบอก AI น่ากลัว ต่อไปอาจมาแทนมนุษย์เร็วเกินไป สร้างความขัดแย้ง สร้างความปลอม เราควรจะมาควบคุมการพัฒนา AI ไม่ให้ไปเร็วเกินไป พยายามให้มีคุณธรรมกำกับ

แต่ถามว่าในโลกที่จีนกับอเมริกา กำลังแย่งกันเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยี จีนจะฟังอเมริกาบอกให้ชะลอไหม? แล้วอเมริกาจะฟังจีนไหม? ทั้งสองประเทศจะตกลงกันได้ไหม ว่ามาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของใคร เป็นมาตรฐานที่ถูกต้อง แทบจะไม่มีทาง เพราะฉะนั้นการแข่งขันเป็นมหาอำนาจคือ การแข่งกันเป็นมหาอำนาจ AI ทำให้การควบคุม หรือชะลอ AI เป็นเรื่องที่ยากมาก

ขณะเดียวกัน AI ก็ feed กลับไปที่ความขัดแย้งของมหาอำนาจ ไม่ต้องถึง AI แค่ social media ก็สร้างความขัดแย้งรุนแรงกันมากแล้ว ปี 2024 มีการเลือกตั้งหลายที่ รวมทั้งอเมริกา มีการป้อนความขัดแย้งใส่กันตลอดเวลา เพราะบางครั้งการทำให้เกลียดประเทศอื่น ทำให้เราชนะการเลือกตั้ง พอมีตรงนี้ นึกภาพ AI ใส่เข้าไปอีก มันทำให้เต็มไปด้วยข่าวปลอม สร้างความสับสน เข้าใจกันผิดๆ นี่คือ ตัวอย่างของคำว่า “poly” คือ ซ้อนกัน ทำให้โจทย์ที่ยากอยู่แล้ว ยากยิ่งไปอีก

เพราะฉะนั้น polyparadox เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส แต่ซับซ้อน บางครั้งเห็นเทรนด์เดินหน้า แต่มันดันถอยหลัง บางครั้งนึกว่า AI ถอยหลัง แต่กลับก้าวกระโดด ตัวอย่างที่ AI เกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาวของวงการเทคโนโลยี บางครั้งของที่มันดูไม่เกี่ยว มันดันกลายมาเป็นเกี่ยว เพราะฉะนั้นของที่เราคิดว่า ไม่ต้องรู้ ไม่ใช่เรื่องของเรา มันกลายเป็นเรื่องของเรา ที่ใกล้ตัว นี่คือโลกของ polyparadox ที่มันซับซ้อน ย้อนแย้ง

3 สมดุลที่สำคัญ
1. สมดุลในเรื่องของ “technology skill” กับ “human skill” ต้องทันดิจิทัล ทัน AI มีทักษะเอามาใช้ประโยชน์ได้ ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืม “ทักษะมนุษย์” เพราะในโลกที่ AI เก่งมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายทักษะความเข้าอกเข้าใจ จะเป็นทักษะที่มีค่า หายาก เราไม่ต้องหมอที่เก่งวิเคราะห์ เพราะมี AI ช่วย แต่ต้องการหมอที่มีความเข้าอกเข้าใจ
2. สมดุลในเรื่องของ “adaptability” กับ “discipline” ต้องกล้าเปลี่ยน growth mindset แต่ไม่ควรกระโดดเปลี่ยนทิศทางตลอดเวลา บางครั้งสิ่งที่ถูกคือ การยึดมั่นในทางที่เดินต่อไป การมี “discipline” ไม่ใช่ว่าปีนี้มีโปรเจกต์ AI ปีนี้มี blockchain ทำให้ทุกอย่างมันไม่ไปด้วยกัน บางครั้งต้องยึดในทางที่เราเดินอยู่ บางครั้งก็ต้องเปลี่ยน ต้องสมดุลระหว่าง adaptability กับ discipline ให้ดี
3. สมดุลในเรื่องของ “ความสำเร็จ” กับ “ความสุข” สุดท้ายถ้าทำทุกอย่างตามนี้ได้ องค์กรจะประสบความสำเร็จ ตัวเราจะประสบความสำเร็จ แต่คำถามก็คือ แล้วเรามีความสุขหรือเปล่า? การสร้างสมดุลความสำเร็จกับความสุข เป็นเรื่องสำคัญ เพราะความสำเร็จไม่ได้ทำให้เรามีความสุข แต่การที่เรามีความสุข มันทำให้เราสำเร็จ

“เราต้องสร้างความพอดีในโลกที่ไม่มีความพอดี หาสมดุลในโลกที่ไร้สมดุล”